องค์ประกอบของภาพยนตร์ที่ดี

โดยส่วนมากแล้วภาพยนตร์ที่ดีมักจะมีองค์ประกอบหลักที่ดี อันดับแรกนั่นก็คือ บทภาพยนตร์ เพราะหากแม้ว่าภาพยนตร์ที่มีฉากบู๊แอ๊คชั่นล้างผลาญ หรือมีฉากสเปเชี่ยลเอฟเฟคอลังการ แต่หากขาดบทภาพยนตร์ที่ดีไป นั่นก็ทำให้ภาพยนตร์นั้นๆดูอ่อนด้อยและไม่น่าเป็นที่จดจำและกล่าวขวัญถึงในหมู่ผู้ชม ซึ่งบทภาพยนตร์ที่ดีนั้นอาจไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้ชมต้องขบคิดสิบแปดตลบ หลอกผู้ชมไปมาพาลชวนดูแล้วปวดหัวมากกว่าจะได้รับความบันเทิงอย่างที่ควรจะเป็น
บทภาพยนตร์ที่ดีในภาพยนตร์บางเรื่องที่ผู้ชมประทับใจนั้น หลายๆเรื่องกลับเป็นการเล่าเรื่องแบบง่ายๆ ว่าด้วยชีวิตประจำวันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงอายุของคน ร้อยเรียงลำดับเหตุการณ์ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นของคนเรา หรือหยิบยกเอาเหตุการณ์สำคัญที่อาจจะเป็นเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้น ณ ห้วงเวลาหนึ่งของชีวิตคนเรา ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ชมอย่างมาก ดูแล้วมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครและเหตุการณ์นั้นๆที่คนส่วนใหญ่ได้ร่วมรับรู้ไปด้วย
ส่วนองค์ประกอบอันดับต่อไปคือ ผู้กำกับภาพยนตร์ หากเปรียบบทภาพยนตร์เป็นเสมือนรถคันหนึ่ง ผู้กำกับภาพยนตร์ก็เปรียบเป็นโชเฟอร์ขับรถ ที่ต้องคอยคิดว่าจะถ่ายทอดบทภาพยนตร์ให้ออกมาเป็นลักษณะเช่นใด บางเหตุการณ์เป็นเรื่องราวที่แสนสะเทือนใจและหดหู่ใจ แต่ผู้กำกับกลับเลือกที่จะถ่ายทอดความรู้สึกในด้านดีหรือที่เรียกแบบง่ายๆว่าฟีลกู้ด ทำให้ผู้ชมที่ได้รับชมในโรงภาพยนตร์จบต่างเดินออกมาด้วยความรู้สึกดีตามไปด้วย
ขณะที่ผู้กำกับบางคนเลือกที่จะถ่ายทอดความรู้สึกแบบเล่นกับวิธีการลำดับภาพแบบตัดสลับไปมา หรือเปิดเรื่องมาด้วยฉากจบของเรื่องแล้วค่อยๆย้อนเหตุการณ์กลับไป สลับกับเหตุการณ์สืบสวนคดี ดำเนินเรื่องเป็นเส้นขนานไปพร้อมๆกัน ทำให้คนดูต้องติดตามชมทุกนาทีห้ามแม้แต่กระพริบตาเพราะมิฉะนั้น อาจพลาดภาพบางภาพ หรือ คำพูดบางประโยคที่เป็นหัวใจสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนั้นไปอย่างน่าเสียดาย
องค์ประกอบที่สำคัญลำดับต่อมาคือ ในส่วนของภาพ คือช่างกล้องหรือผู้กำกับภาพ ซึ่งในส่วนนี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ ที่จะส่งผลให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมไปด้วยกัน เพราะในบางภาพยนตร์จะเน้นทีภาพเป็นหลัก ปล่อยให้ภาพเป็นตัวเล่าเรื่อง บทพูดของตัวละครน้อยถึงน้อยมาก หรือในบางครั้งก็ไม่มีบทพูด แต่ด้วยวิธีการกำกับภาพที่ดี ทำให้สามารถสื่อถึงอารมณ์ของภาพ อารมณ์ของตัวละคร อารมณ์ของภาพยนตร์ ให้เราได้ร่วมรับรู้ไปโดยปริยาย
ตัวอย่างชัดเจนทีอธิบายถึงความสำคัญในการกำกับภาพที่เป็นที่รู้จักดีนั่นก็คงหนีไม้พ้น อัลฟอนโซ คัวรอน กับตากล้องคู่ใจของเขา เอ็มมานูเอล ลูเบสกี้ ที่่มีผลงานอันยอดเยี่ยมโดยเฉพาะการกำกับภาพที่ทุกคนต่างพูดถึงในภาพยนตร์เรื่อง Gravity หรือจะเป็นฝั่งเอเชียบ้านเราก็คงหนีไม่พ้น หว่องกาไวกับตากล้องคู่ใจ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ ที่บรรดาแฟนคลับของเค้าต่างมักกล่าวถึงการเล่าเรื่องด้วยภาพในฉากนั้นๆมากกว่าที่จะกล่าวถึงเนื้อหาเสียด้วยซ้ำ
องค์ประกอบสำคัญลำดับสุดท้าย ที่อยากกล่าวถึงนั่นก็คือ บทเพลงประกอบในภาพยนตร์ เพลงประกอบบางเพลงมีอิทธิพลกับภาพยนตร์อย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น “Titanic” กับเพลง “My Heart Will Go On” หรือ เพลง “She” จากเรื่อง “Notting Hill” หรือแม้แต่จะเป็นเวอร์ชั่นแบบไทยไทยยกตัวอย่างเช่น “กุมภาพันธ์” กับเพลงประกอบที่มีชื่อเดียวกัน หรือจะเป็นเพลงไทยเดิมย้อนยุค “คำหวาน” จากเรื่อง “โหมโรง”
เพลงที่ประกอบที่ดี ไม่ความพอได้ยินแล้วเราจะต้องมีอารมณ์ร่วมด้วยทันที ฟังแล้วเคลิ้มตาม ฉากต่างๆในภาพยนตร์ผุดขึ้นมาในหัวอย่างต่อเนื่อง ยิ้มด้วยความอิ่มเอมใจ เขินอายด้วยฉากรักสุดแสนโรแมนติก สะเทือนใจด้วยฉากเศร้าบีบคั้นอารมณ์ ซึ่งอารมณ์ร่วมเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ย่อมมาจากการสอดคล้องกันของบทเพลงประกอบกับเนื้อเรื่องหลักและอารมณ์ของภาพยนตร์ ที่ต่างเป็นตัวประสานเชื่อมต่อกันทำหน้าที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน และท้ายสุดคือส่งอิทธิพลต่อผู้ชมและผู้ฟัง
ที่ได้หยิบยกมาพูดถึง ณ ทีนี้ซึ่งเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะหากจะกล่าวกันจริงๆแล้วยังมีอีกหลายๆส่วนที่ประกอบกันเป็นภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายศิลป์ ฝ่ายเทคนิค หรือทีมงานสเปเชียลเอฟเฟค ฝ่ายเสื้อผ้าหน้าผม ฝ่ายสร้างฉาก ฝ่ายสตอรี่บอร์ด ฝ่ายเครื่องแต่งกาย ฝ่ายจัดหาโลเคชั่น ฝ่ายคัดเลือกนักแสดง และทีมนักแสดง ที่ต่างทำหน้าที่ในส่วนต่างๆของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผลงานที่จะออกมาเป็นภาพยนตร์หนึ่งเรื่องจะประทับใจกับผู้ชมไม่มากก็น้อย